“พิธา-กฤษดา” สองหนุ่มรุ่นใหม่ เปิดเคล็ดลับ ทำธุรกิจอย่างไรให้ “โดนใจ” ตลาด


หลายเสียงบอกว่าหากใครคิดจะเริ่มธุรกิจสมัยนี้ต้องคิดแล้วคิดอีกและยังต้องคิดให้ถ้วนถี่ เพราะการแข่งขันสูงมาก ใครสายป่านไม่ยาวจริงโอกาสประสบความสำเร็จแทบจะเป็นศูนย์ หลายคนจึงได้แต่เก็บความฝันไว้กับตัว ไม่กล้าลงแรงลงใจทำให้ฝันเป็นจริง

แต่ไม่ใช่สำหรับสองหนุ่มคนรุ่นใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วัย 31 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด นักธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันดิบจากรำข้าว และ กฤษดา สาระคุณ วัย 34 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซูชิ บอย จำกัด เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ซูชิ บอย” ที่ไม่ย่อท้อ กล้าเดินหน้าตามหาความฝันของตนเองและใช้สองมือหนึ่งสมองลงมือทำกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด

ในงานสัมมนา “ทำโชห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 15 ที่ จ.อุบลราชธานี จัดโดย เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย และสถาบันการจัดการ PIM ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ พิธา และ กฤษดา ได้มาร่วมขึ้นเวทีถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ พร้อมแนะเคล็ดลับการเป็นเถ้าแก่ยุคใหม่ให้ทุกคนได้ลองนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง
พิธา เล่าถึงธุรกิจที่ทำว่า เป็นการนำ รำข้าว จากโรงสีมาสกัดเป็น น้ำมันรำข้าว ซึ่งเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ บริษัทนี้ตั้งมาจากปณิธานของบิดาที่ว่าประเทศนี้จะเจริญได้ก็จาก การเกษตรที่มีการเพิ่มมูลค่า ซึ่งประเทศไทยทำมากแต่ได้น้อย ขณะที่ต่างชาติทำน้อยแต่ได้มาก บิดาเห็นว่ารำข้าวสามารถนำมาทำประโยชน์ได้อีกมาก จึงนำรำข้าวมาเป็นตัวตั้ง กู้เงินจากธนาคารและวางโครงสร้างบริษัท แต่หลังจากนั้นไม่นานบิดาก็เสียชีวิต พร้อมกับหนี้ที่ต้องใช้คืนธนาคารอีกถึง 100 ล้านบาท



“ตอนคุณพ่อเสียชีวิต ผมอายุ 25 ยังเรียนที่สหรัฐอเมริกา ยังไม่คิดว่าต้องรับผิดชอบอะไรมาก แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผมเป็นลูกชายคนโตต้องกลับมาดูแลคุณแม่และน้องชาย และต้องกลับมาดูแลกิจการบริษัทด้วย คิดว่าลองสู้ดูสักตั้ง ช่วงนั้นทำงานหนักมาก เคยมีคนลองของด้วยการเอารำข้าวปนกรวดมาขายให้ผม ผมก็คิดว่าไม่เป็นไร เรากลับมาเพิ่มขีดความสามารถของตนเองแล้วกัน 

“แรกๆ ผมยังผลิตน้ำมันรำข้าวไม่ค่อยได้ผลผลิตดี จนกระทั่งใกล้ถึงกำหนดใช้หนี้ ทุกอย่างค่อยเดินหน้าไปได้ ตอนนั้นราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มแพงขึ้น ราคาน้ำมันรำข้าวก็แพงขึ้น ถือว่าโชคดีที่ราคาขึ้น ทำให้สามารถล้างหนี้ 100 ล้านบาทของคุณพ่อได้หมด และมีเงินนำมาลงทุนต่อ ธุรกิจก็เติบโตมาเรื่อยๆ ปีที่แล้วบริษัทผมมียอดขาย 1,100 ล้านบาท” พิธา เล่า

ด้วยความที่ พิธา ศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ทั้ง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ เอ็มไอที (แมสซาชูเส็ทส์ อินสติติวท์ ออฟ เทคโนโลยี) ทำให้ได้มีโอกาสพบบุคคลสำคัญระดับโลกมากมาย เช่น วอร์เรน บัฟเฟตส์ มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก บิลล์ เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์ บารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฯลฯ ที่มาเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ พิธา จึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของคนเหล่านี้กลับมาใช้ แต่สิ่งที่ พิธา ยึดหลักมากระทั่งถึงทุกวันนี้ เป็นคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตส์

“ผมไปทานข้าวที่บ้านเขา เขาก็ถามพบว่าเรียนจบแล้วจะกลับไปทำอะไร ผมเลยบอกว่าจะกลับไปทำน้ำมันรำข้าว บัฟเฟตส์บอกว่า ดีมาก ยุคนี้เป็นยุคบูรพาภิวัตน์ กลับมาบอกคนที่บ้านคุณซะว่าใต้ดินน่ะทองคำทั้งนั้น ผมเลยพยายามสร้างน้ำมันรำข้าวให้มีมูลค่าสูงขึ้น ต้องเรียนรู้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือต้องรู้ทั้งหมดไม่ใช่รู้แค่ธุรกิจของตัวเองอย่างเดียว คนไทยต้องร่วมมือกันช่วยทำให้มีทรัพย์สิน อย่าทำให้เป็นหนี้สิน” นักธุรกิจหนุ่ม เล่า 

พร้อมบอกด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องคิดแล้วว่าไทยจะแข่งขันกับต่างชาติอย่างไร ซึ่งจุดที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด หากต้องการแข่งขันแล้ว“ต้นทุนต้องต่ำ สินค้าต้องต่าง และ เจาะจงดูความต้องการสินค้า” ทุกวันนี้มีสื่อใหม่ (นิว มีเดีย) มากมาย ลองศึกษาและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของตน
พิธา บอกว่า ธุรกิจน้ำมันรำข้าวที่ทำอยู่ก็เช่นกัน จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ปรับตัวไม่ได้ จากที่ทำน้ำมันดิบจากรำข้าวส่งขายต่างประเทศ ตอนนี้เริ่มวางแผนแล้วว่าจะสร้าง “ปลายน้ำ” อย่างไร ต้องพัฒนาศักยภาพของน้ำมันรำข้าวให้มากที่สุด ใช้ศักยภาพของข้าวไทยให้มากที่สุด

สำหรับ “เคล็ดลับการเป็นเถ้าแก่ยุคใหม่” นั้น พิธา แนะว่า ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง ต้องหาความรู้ใส่ตัวให้มากที่สุด ทั้งจากการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ข่าวสารในแวดวงธุรกิจ พูดคุยกับทุกคนเพื่อหาความรู้ รู้ให้จริงและรู้ให้รอบมากที่สุด ไม่ใช่รู้แค่ธุรกิจของตนอย่างเดียว สองมือคือทัพหน้าของสมอง ต้องลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปแล้วหากผิดพลาดก็เรียนรู้เป็นบทเรียนและนำมาแก้ไข พร้อมกับพัฒนาต่อไปให้มากสุด

“สุดท้ายคือต้องอดทน บางคนเจอปัญหาก็โกรธตัวเอง โกรธคนอื่น แล้วก็ไม่ทนอะไร ทั้งที่ทุกคนเกิดมาต้องเจอความทุกข์ ต้องรู้จักศิลปะแห่งความเพิกเฉย ใครขัดใจเรา เราต้องข่มใจและสู้ต่อ หากทำได้ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก” พิธา ทิ้งท้ายให้แง่คิด

ส่วน กฤษดา เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ซูชิ บอย” ที่ตอนนี้มี 3 สาขาในกรุงเทพมหานคร อธิบายถึงรูปแบบธุรกิจให้ฟังว่า เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น มีจุดเด่นที่ “ซูชิสายพาน” และมีอาหารตามสั่ง โดยเป็นอาหาร “ฟิวชั่น” คือผสมผสานอาหารญี่ปุ่นกับอาหารตะวันตกเข้าด้วยกัน


เจ้าของร้าน ซูชิ บอย เล่าว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์แล้วก็ไปทำงานในบริษัทโฆษณาด้านการวางแผนกลยุทธ์ ช่วยวางแผนให้ลูกค้าสามารถขายสินค้าได้ในตลาด ใช้ชีวิตเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ราว 10 ปี

วันหนึ่งคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง มุ่งมั่นอยากเป็นผู้ประกอบการ เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตแล้วก็ลาออกไปเรียนและทำงานเป็นพ่อครัวที่ประเทศออสเตรเลียอยู่ 3 ปี เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ไว้เป็นเงินทุนตั้งต้นทำธุรกิจ พอจะกลับมาก็เริ่มมองตลาด และลงตัวที่อาหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาหารที่ชอบรับประทานอยู่แล้ว จากนั้นจึงเริ่มเรียนทำอาหารญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

“เคยมีคนถามผมว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการเริ่มต้นธุรกิจคืออะไร ผมบอกไปว่าเป็นตัวของเราเอง เราต้องมีความกล้า วันแรกที่ผมเริ่มก็เกิดความคิดต่อต้านกัน กล้าๆ กลัวๆ ทะเลาะกับตัวเอง แต่เราต้องผ่านไปให้ได้ และการมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตจะทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้

“ผมเชื่อว่ามนุษย์มีพรสวรรค์และพรแสวง คนที่มีพรสวรรค์ก็ลุยเลย แต่คนธรรมดาที่ไม่มีพรสวรรค์ต้องแสวงหาโอกาส สิ่งที่เรียนมาหรือที่เราทำมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง และอย่าลืมวิเคราะห์ตลาด” กฤษดา บอก

ธุรกิจ “ซูชิ บอย” ของตนเองนั้น กฤษดา มองว่ายังไม่ใช่ระดับผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบริหารการเงินอย่างรัดกุม ซึ่งกฤษดาแนะว่า ผู้ที่ทำธุรกิจขนาด “เอสเอ็มอี” อาจแบ่งเงินทุนออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกนำไปลงทุน เดินเข้าธนาคารเพื่อขอคำแนะนำ เพราะแต่ละธนาคารจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยให้เงินงอกเงยได้ ส่วนที่สองนำมาลงทุนทำธุรกิจ และส่วนสุดท้ายเก็บสำรองไว้

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในมุมมองของกฤษดา คือ “คิดให้ต่าง” ซึ่งมองได้ 2 มุม มุมแรก การจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ต้องคิดของที่ใหม่ที่สุดในโลก และทำการตลาดจากสิ่งที่คิดต่าง ส่วนมุมที่สอง หากคิดให้แปลกใหม่ที่สุดในโลกไม่ได้ก็ ต้องหาช่องว่างทางการตลาดให้เจอ คนไทยมีความซับซ้อน หลากหลาย ชอบอะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นยังมีช่องทางทำการตลาดได้อีก เช่น หากทำสลัดเก่งมาก อาจไปหาทำเลขายสลัดในย่านสวนสาธารณะหรือสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ คือหาทำเลที่เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ

กว่าธุรกิจของจะประสบความสำเร็จ กระทั่งมีลูกค้าติดใจรสชาติและการให้บริการของร้านจนบอกกันปากต่อปาก ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่ กฤษดา ยึดถือมาตลอด กระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “เถ้าแก่ยุคใหม่” ได้คือ ต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้ อย่ากลัวการเริ่มต้น เพราะถ้าไม่เริ่มต้นก็จะไม่เจอปัญหาใดๆ เลย จะไม่เกิดการเรียนรู้แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น ต้องรักในสิ่งที่ทำและเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงสิ่งที่ทำ
นอกจากนี้ ต้องตามให้ทันโลก เช่น กระแสโซเชียล มีเดีย ถ้าศึกษาและใช้ให้เป็นก็จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก เป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและรับฟังเสียงสะท้อนได้โดยตรง ทั้งยังต้อง เปิดหูเปิดตา โลกนี้ไม่มีอะไรดีที่สุด พรุ่งนี้อาจมีสิ่งที่ดีกว่าเสมอ จึงต้องหมั่นค้นคว้า เปิดโลก เปิดใจ เปิดความคิดอยู่ตลอด สุดท้าย ต้องรับฟังเสียงลูกค้า ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทุกวัน อย่าคิดว่าเราแน่ เราเก่ง หรือเรารู้ดีทุกอย่าง ต้องขวนขวายและตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอยู่เสมอ

ขอเพียงมีใจที่มุ่งมั่น รักในสิ่งที่ทำ หมั่นหาความรู้ เปิดโลกอยู่เสมอ และรับฟังเสียงผู้บริโภค เท่านี้เส้นทางการเป็น “เถ้าแก่ยุคใหม่” ก็ไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น